การประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน อย่างหนึ่งที่เราต้องมีคือ การจัดลำดับความสำคัญของงาน เราจึงต้องฝึกจัดระเบียบความคิด ให้เป็นลำดับขั้นตอนเพื่อจัดระบบให้งาน แยกงานที่สำคัญที่สุด สิ่งที่จำเป็นต้องทำก่อน สิ่งที่ต้องแก้ สิ่งสำคัญแต่ยังไม่ต้องรีบ และเรื่องทั่วไป ซึ่งการจดบันทึกสามารถช่วยได้เป็นอย่างดี
สิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาเลือก คือ สมุด เพราะการจดมีหลายรูปแบบ ควรต้องใช้สมุดที่เหมาะสม การจดบันทึกนอกจากจะเป็นรูปแบบของการบันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่เราพบเจอ ไม่ให้หลงลืมไปแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาของการเรียบเรียงประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นเพียงความนึกคิด ให้ออกเป็นรูปร่างได้รวดเร็วขึ้นด้วย ฉะนั้น สมุดที่ดี ต้องไม่ใช่แค่รูปร่างหน้าตาสวยงาม แต่ต้องเป็นสมุดที่ได้ใช้จดและนำความคิดที่เรียบเรียงนั้นมาใช้งานได้ในภายหลัง
ความสำคัญของการจดบันทึก
การเขียนบันทึก คือ การเขียนบันทึกข้อมูลที่เป็นประสบการณ์ ความรู้หรือข้อความสำคัญในการจดบันทึก ต้องบอกแหล่งที่มา หรือ วัน เวลาที่จดบันทึกได้ด้วย การเขียนบันทึกมี นอกจากช่วยจัดระบบความคิดแล้ว ยังมีข้อดีอีกหลายอย่าง ดังนี้
การจดบันทึกเพิ่มประสิทธิภาพความจำได้ถึง 34% เชื่อเถอะว่า การจดย่อมดีกว่า การจำ จากการวิจัยของ Lonman and Atkinson พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว คนเรามีโอกาสจำข้อมูลสำคัญๆ ที่ได้ยินโดยไม่จดบันทึกเพียง 5% แต่ถ้าหาก จดบันทึกเรื่องราว เราจะมีสิทธิ์จำได้สูงขึ้นเป็น 34%
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สำคัญในชีวิต หรือโมเม้นท์พิเศษๆ รายละเอียดเล็กน้อย ลองเขียนบันทึกเอาไว้กลับมาอ่านทบทวน รับรองว่าช่วยเราได้มาก
การจดบันทึกช่วยทบทวนเหตุการณ์ในชีวิต แม้เราจะยุ่ง เหนื่อย แค่ไหน แต่ละวันผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนแทบไม่ได้ทบทวน ว่าวันนี้ทำอะไรบ้าง เจอเหตุการณ์อะไรบ้าง แล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง
การหยิบปากกามาจดเรื่องราวในแต่ละวัน อาจจะทำให้เราได้เข้าใจความคิดของตัวเอง ทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และทำให้เรามองเห็นความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิต เพื่อที่จะได้มาปรับแก้ไขให้ดีขึ้นได้ในครั้งต่อไป
การจดบันทึกช่วยปลดปล่อยความเป็นตัวเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ สมุดโน้ตหรือไดอารี่เป็นพื้นที่ส่วนตัวของเรา
ดังนั้นสมุดคืออีกสถานที่หนึ่ง ที่เราสามารถปลดปล่อยความเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ผ่านตัวหนังสือ ถือว่าเป็นการระบายอารมณ์ที่ดีอย่างหนึ่ง โดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ หากได้ย้อนกลับมาอ่าน เราจะเห็นพัฒนาการทางด้านความคิด และอารมณ์ของเมื่อก่อนอีกด้วย และเราสามารถพัฒนาข้อผิดพลาด จากสิ่งที่เราเคยทำให้ดีขึ้นได้
สมุด 3 เล่ม ช่วยจัดระบบความคิด
ในชีวิตประจำวันถ้ามีสมุด 3 เล่มนี้ แน่นนอนว่าจะช่วยให้การจัดระบบชีวิต และการทำงานของเราให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ได้อย่างมาก
1. Diary บันทึกเรืองราวชีวิตประจำวัน
สมุดไดอารี่ คือ สมุดบันทึกประจำวัน จดสิ่งต่าง ๆ ที่คุณเจอ เป็นการจดอดีต เป็นการฝึกการเล่าเรื่อง
เมื่อบันทึกเรื่อย ๆ เราจะค้นพบว่า มันเป็นความสนุกในการพูดคุยกับ Diary และตัวเอง เริ่มต้นเขียนง่ายๆ อาจจะเป็นการไล่เรียงเหตุการณ์จากเช้าจรดเย็นที่ได้เจอ คนที่ชอบงาน Craft การจด Diary เมื่อจบวันก็จะเป็นการทบทวนว่า วันนี้ได้พบเจออะไร ยิ่งถ้าเป็นการบันทึกการเดินทางด้วยแล้วจะยิ่งสนุกมาก
ถ้าเราเอาบัตร หรือของต่าง ๆ แปะลงไปใน Diary ด้วย เพิ่มความสนุกและเมื่อเปิดมาอ่านย้อนหลังก็จะเห็นภาพและความทรงจำได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากสมุด ปัจจุบันยังมีการจดบันทึกใน Application ต่าง ๆ ในสมาร์ทโฟนและเว็บไซต์ ซึ่งนอกจากจะบันทึกข้อความแล้วยังมีรูปภาพได้หลากหลาย ที่สำคัญเราสามารถแชร์เรื่องราวให้เพื่อนๆ อ่านได้ด้วย
2. Notebook จดบันทึกเรื่องราวทั่วไป
Talking notes เป็นการเขียนบันทึกสิ่งต่าง ๆ ทั้งสิ่งที่นึกได้ และฟังได้ ไม่ว่าจะเป็นบันทึกการประชุม จด Lecture ซึ่งมีเทคนิคการจดที่นิยมใช้ในการบันทึกดังนี้
เทคนิคการจดแบบ Bullet
คือเทคนิคการจดแบบง่ายที่สุด ที่นิยมใช้ทั่วไป ด้วยการเขียนเลขด้านหน้า หรือขีดกลาง หรือจุดด้านหน้าทุกครั้งเมื่อเราได้ประเด็นใหม่ การจดแบบนี้ช่วยฝึกให้แยกประเด็นได้ว่า สิ่งที่กำลังฟังนี้เป็นประเด็นใหม่ หรือยังอยู่ในประเด็นเดิม
เทคนิคการจดแบบ Flow Chart
คือการจดแบบกล่องข้อความ แล้วมีลูกศรโยงความสัมพันธ์ถึงกัน การจดแบบนี้เหมาะมากกับการวิเคราะห์ หรือขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ที่เน้นเรื่องลำดับการเกิดก่อนหลัง เช่น จดขั้นตอนการกรอกข้อมูลสมาชิก จดขั้นตอนการซื้อสินค้า
เทคนิคการจดแบบ Cornell Method
คือการบันทึกที่แบ่งหน้ากระดาษเป็น 3 ช่อง โดยตีเส้นยาวให้ส่วนล่างสุดของหน้าความสูงประมาณ ¼ ของกระดาษ
ด้านบนที่เหลือให้แบ่งเป็นสองฟาก ให้ฟากซ้ายมีขนาดเล็ก ฟากขวาเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ฟากขวามือคือการจด Fact ที่เราได้ยินได้ฟัง, ฟากซ้ายคือการจดความนึกคิดและประเด็นคำถามของเราระหว่างที่ได้ฟังเรื่องราวนี้
ด้านล่างสุดคือการจด Summary หลังจากจบการฟังแล้ว ว่ามีประเด็นอะไรน่าสนใจ เนื้อหาใจความหลักของเรื่องนี้คืออะไร และคุณต้องทำอะไรต่อ
เทคนิคการจดแบบ Mind Mapping
คือการจดแบบเริ่มต้นประเด็นจากกลางหน้ากระดาษ แล้วค่อยแตกกิ่งเรื่องที่สนใจออกไปเรื่อย ๆ การจดแบบนี้จะทำให้เราเห็นทางเลือก Option ต่าง ๆ เห็นภาพรวมของข้อมูลทั้งหมดในหน้าเดียว
เทคนิคการจดเรื่องราวทั่วไปในปัจจุบันที่ดี คือ ต้องตั้งชื่อให้สิ่งที่กำลังจดทุกครั้ง ที่หัวกระดาษมุมซ้ายบน มุมขวาลงวันที่ และเมื่อจบการประชุมหรือจบการเขียนเรื่องนี้ให้ขีดเส้นใต้ยาวๆ เพื่อปิดประเด็น หรือขึ้นหน้าใหม่เสมอที่เริ่มจด ไม่ว่าการจดครั้งที่แล้วจะใช้กระดาษไปแค่ไหนก็ตาม
3. Planner จดบันทึกการวางแผน
สมุด planner
เป็นสมุดช่วยวางแผน เป็นการวางแผนตั้งแต่ระยะสั้น ถึงระยะยาว อาจจะเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปี
การจดอนาคตด้วย Planner นี้จะได้ผลก็ต่อเมื่อ จบวันแล้วเรามาดูว่าทำได้ตามแผนหรือไม่ มีอะไรที่ไม่ได้ทำ และต้องยกมาทำต่อในวันรุ่งขึ้น ก็จะทำให้ไม่พลาดการทำงาน หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องดูแลภายในบ้าน และเตรียมงานล่วงหน้า หรืออาจจะใช้กับเรื่องเล็ก ๆ ก็ได้อีกด้วย
หลักการจด planner มีดังนี้
จัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จดบันทึก อาจจะใส่ข้อความกำกับ หรือเพิ่มสีสันให้ เพื่อให้เราเห็นภาพได้ชัดเจน
ใช้ตารางรายเดือนในการกำหนดเป้าหมายใหญ่ๆ เพื่อช่วยให้เรามองเห็นกรอบระยะเวลาสิ่งที่จะต้องทำในแต่ละเดือน
ไม่ต้องจดทุกเรื่องลงในสมุด ควรเลือกจดเฉพาะที่สำคัญ ที่ต้องทำ และที่ต้องจำ เรื่องทั่ว ๆไป เรื่องที่ต้องทำเป็นกิจวัตรซึ่งเราต้องรู้อยู่แล้วก็ไม่ต้องจดก็ได้
สร้างแรงจูงใจในการทำตามเป้าหมาย เหมือนเป็นแรงผลักดันว่าถ้าทำสำเร็จจะมีรางวัลสำหรับตัวเอง
โฟกัสไปโปรเจคที่สำคัญ แค่ 2-3 อย่างในแต่ละสัปดาห์ ไม่งั้นจะแน่นจนขาดประสิทธิภาพ
บทส่งท้าย
เมื่อเราจดบันทึกสมุด 3 เล่มนี้ อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้มีนิสัย 3 อย่างเกิดขึ้น โดยไม่รู้ตัวคือ คือ เป็นนักเล่าเรื่อง ด้วยการจด Diary, เป็นนักจับประเด็น ด้วยการจด talking note จากการประชุมหรือการเรียนวิชาต่าง ๆ, เป็นนักวางแผนที่ดี ด้วยการจด Planner นั่นเอง
การจด ย่อมดีกว่า การจำ เพราะเราไม่สามารถจะจำทุกเรื่องราวได้ การจดบันทึกจะช่วยจำและลดคามผิดพลาดเหล่านี้ได้ เริ่มต้นเป็นคนจดบันทึก ด้วยการหาสมุดโน้ตที่ถูกใจ เลือกกระดาษ เลือกขนาด เลือกรูปแบบที่ถนัดได้เลยค่ะ