ประโยชน์ของการจดบันทึก ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น

ประโยชน์ของการจดบันทึก ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น

เชื่อหรือไม่ การจดบันทึก จะช่วยจัดระเบียบชีวิตของเราให้ง่ายขึ้น เพราะเราจะไม่หลงลืมเรื่องราวต่าง ๆนั่นเอง ในปัจจุบันโทรศัพท์มือถือกลายเป็นทุกอย่าง  หลายคนเปลี่ยนพฤติกรรมการจดบันทึกในสมุด มาบันทึกในสมาร์ทโฟนแทน เพราะสะดวกสบาย พกพาง่าย สมุดบันทึกกับปากกาเลยถูกทิ้งไว้ให้กลายเป็นของที่ถูกลืม

แต่ถึงอย่างไร การจดบันทึกก็ยังคงเป็นวิธีที่ให้เอกลักษณ์เฉพาะ ในการถ่ายทอดความคิดและความทรงจำของคุณ เสน่ห์ของการจดบันทึกลงสมุด ต่างกับการจดลงสมาร์ทโฟน เราอาจจะไม่ชินกับการพกพาสมุดอีกเล่ม แต่มันสะดวกในการจดรายละเอียดและการนำมาอ่านซ้ำ และหลายคนที่ประสบความสำเร็จ ยังคงเป็นคนที่ชอบจดบันทึกเสมอ

ความหมาย

บันทึก คือ ข้อความหรือข้อมูลที่เป็นประสบการณ์ความรู้หรือสาระสำคัญของเรื่องราวที่ต้องการเก็บรักษาไว้เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เพื่อเตือนความจำ เพื่อเป็นหลักฐานในการทำงานต่าง ๆ หรือเพื่อประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น เพื่อการถ่ายทอดต่อ หรือเพื่อนำไปแสวงหาผลตอบแทน เป็นต้น

ความสำคัญของการบันทึก

  1. ช่วยให้ได้ปลดปล่อยความคิดของตัวเอง เช่น การเขียนบันทึกความรู้สึก
  2. ช่วยให้ไม่ลืมอะไรง่ายๆ ยิ่งการเขียนด้วยลายมือของตัวเอง ยิ่งทำให้เราโฟกัสกับความคิดของตัวเองมากขึ้น
  3. ช่วยให้จดจำสิ่งสำคัญในแต่ละวันได้ เช่น การประชุมในวันนี้มีเรื่องอะไรที่ต้องแก้ไขบ้าง
  4. ช่วยให้บันทึกไอเดียที่คิดขึ้นได้ ในอนาคตอาจจะกลายเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจ
  5. ช่วยให้รู้ว่าปัญหาของตัวเองคืออะไร และจะแก้ไขมันได้อย่างไร
  6. ช่วยให้มองเห็นภาพรวมของความคิด และมีหลายความคิดที่สามารถเชื่อมโยงกัน จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ ซึ่งความคิดเหล่านี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับความสำเร็จในอนาคต

ประโยชน์ของการจดบันทึก

  1. เพิ่มสมาธิในการฟัง การจดจะทำให้เราฟังอย่างตั้งใจมากขึ้น
  2. เพิ่มความเข้าใจ การจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เป็นการสร้างความเข้าใจในเนื้อหามากขึ้น
  3. เพิ่มความจดจำ เมื่อมีการจดบันทึก ช่วยให้เราจดจำเนื้อหาได้ดีขึ้น
  4. ใช้เป็นแหล่งสืบค้นในภายหลัง นับเป็นหลักฐานอย่างไม่เป็นทางการได้
  5. สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตัวเอง การเป็นผู้จดบันทึกจนเป็นนิสัย จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดูดี ภูมิฐานให้กับตัวเอง

ประเภทของการจดบันทึก

การจดบันทึก แบ่งได้ 2 แบบหลัก ๆ คือ

1. บันทึกทั่วไป เป็นการจดบันทึกเรื่องราวจากการอ่าน บันทึกการฟัง บันทึกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ไดอารี่ บันทึกนัดหมาย บันทึกเรื่องราวสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น

2.  บันทึกทางธุรกิจ บันทึกที่ใช้สื่อสารในองค์กร โดยแต่ละที่อาจจะมีรูปแบบหรือแบบฟอร์มของตัวเอง

เทคนิคการจดบันทึกแบบต่าง ๆ

ศิลปะของการจดบันทึกเป็นหนึ่งในกุญแจสู่ความสำเร็จ สำหรับผู้ประกอบการระดับสูงอย่าง เช่น Bill Gates, Richard Branson, Tim Ferriss ไอดอลของหลายๆคน และหากเราสามารถทำให้เป็นนิสัย สามารถสร้างประโยชน์ได้มากมาย

1.  วิธีการจดแบบ Outline

จะจดไล่เรียงลงมาเป็นลำดับตามแต่ละหัวข้ออย่างชัดเจน และเป็นการจดบันทึกที่ดีที่สุดและนิยมมากที่สุด ช่วยให้จัดระเบียบการบันทึกย่อหน้าต่าง ๆได้ และมีรูปแบบโครงสร้างที่ชัดเจน ช่วยประหยัดเวลาเมื่อกลับมาอ่านทบทวน หรือตรวจสอบแก้ไข โดยคุณอาจใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ แทนหัวข้อย่อย หรือการใช้สีที่แตกต่างกัน เพื่อแสดงถึงหัวข้อที่แตกต่างกัน

2.  วิธีการจดแบบ Cornell

มีหน้ากระดาษที่แตกต่างกับการจดบันทึกรูปแบบอื่น ๆ สามารถใช้ได้ในหลากหลายสถานการณ์ โดยการแบ่งพื้นที่บนกระดาษจดบันทึกออกเป็น 3-4 ส่วน โดยเริ่มจาก แถวด้านบนสุดของหน้ากระดาษสำหรับการใส่ชื่อเรื่องและวันที่ ส่วนถัดมาที่บันทึกรายละเอียดเนื้อหา เราจะทำการแบ่งพื้นที่ในการจดบันทึกออก 2 ฝั่ง พื้นที่ฝั่งซ้ายประมาณ 30% และฝั่งขวาประมาณ 70% ของหน้ากระดาษ  แถวด้านล่างสุด ส่วนสุดท้ายถัดจากเนื้อหาเอาไว้ทำสรุป

3.  วิธีการจดแบบ Boxing

วิธีนี้ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง แต่ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์อย่าง iPad ถูกให้ความสำคัญในการช่วยจดบันทึกมากขึ้น เป็นการจับกลุ่มประโยคหรือคำต่าง ๆที่เชื่อมโยงกันเอาไว้เป็นกล่อง เพื่อให้ง่ายต่อการโฟกัสเนื้อหาที่ใกล้เคียงกัน และกลับมาตรวจสอบได้อีกครั้ง

4.  วิธีการจดแบบ Charting

เป็นการจดบันทึกที่เหมาะสำหรับการจัดการข้อมูลจำนวนมากอย่าง สถิติ ข้อเท็จจริงจากรายงานต่าง ๆ โดยการจัดการข้อมูลแบ่งเป็นคอลัมน์คล้ายกับตาราง แต่ละคอลัมน์แบ่งเป็นหมวดหมู่ที่ไม่ซ้ำกันทำให้แต่ละแถวเปรียบเทียบกันได้ง่าย ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และจดจำ

5. วิธีการจดแบบ Mind Mapping

เป็นการจดที่รู้จักกันทั่วไป สามารถจัดระเบียบการบันทึก ให้สามารถมองเห็นภาพรวมได้ชัดเจน และเข้าใจถึงความเชื่อมโยง ขององค์ประกอบเนื้อหาข้อมูลแต่ละหัวข้อ วิธีการจดบันทึกมีรูปแบบที่ยืดหยุ่นสามารถใช้ได้ในหลาย ๆสถานการณ์

อ่านเพิ่มเติม : STEPS

เริ่มสร้างนิสัยการจดบันทึก

  1. ลงทุนกับสมุดบันทึก หาสมุดโน้ตดี ๆ หรือ planner สักเล่ม เลือกแบบ สี ขนาด ที่เราถนัดในการพกพาติดตัว
  2. พกพามันไปทุกที่ ฝึกพกสมุดโน้ตให้ติดนิสัย
  3. จดแค่ตัวอักษรคงน่าเบื่อ ลองใส่ความสนุกลงไปด้วย เช่น สร้าง mind mapping วาดรูปประกอบ ติดสติ๊กเกอร์ ใช้ปากกาสีบ้าง สามารถดีไซน์สมุดของเราแบบไหนก็ได้ เต็มที่เลย!
  4. เตือนตัวเองเป็นประจำให้จดบันทึกไว้ บันทึกให้บ่อย แล้วในที่สุดก็จะติดนิสัย และชอบการบันทึกอย่างแน่นอน ฝึกบันทึกทุกอย่าง ไม่ว่าจะบันทึกช่วยจำ บันทึกนัดหมาย บันทึกไอเดีย บันทึกงานและการประชุม หรือบันทึกรายรับรายจ่ายก็ได้

 

หลักการเลือกสมุดบันทึกให้เหมาะกับตัวเอง

สมุดบันทึกในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ หลายสีสัน มีหลักเกณฑ์ ที่ใช้ในการพิจารณาสมุดบันทึกที่ชอบ และเหมาะกับตัวเองเบื้องต้น ดังนี้

1.  รูปแบบการเย็บเล่ม

รูปแบบการเย็บเล่มมีอยู่ 3 แบบใหญ่  แต่ละแบบมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป  คือ

แบบสันกลาง ข้อดี ไม่เทอะทะ เก็บง่าย ข้อเสีย เวลาฉีกออกต้องฉีกเป็นคู่

แบบสันกาว  ข้อดี  ไม่เทอะทะ จัดเก็บในชั้นหนังสือได้ง่าย ­  ข้อเสีย  เวลาเปิดพับครึ่งที่สันเพื่อเปิดหน้าเดียวจะเขียนค่อนข้างลำบาก

แบบสันห่วง  ข้อดี  เปิดพับครึ่งที่สันก็เขียนได้ง่าย  แยกกระดาษแต่ละหน้าออกจากกันได้  ข้อเสีย  ส่วนสันห่วงจะเกะกะเวลาจัดเก็บ

2.  คุณภาพกระดาษของสมุดแต่ละเล่มแตกต่างกันไป

คุณภาพของกระดาษแบบใดถึงจะดี ต้องพิจารณาว่าเราใช้เครื่องเขียนแบบใด เช่น

ใช้ดินสอหรือใช้ปากกา เมื่อลองเขียนด้วยเครื่องเขียนที่ใช้เป็นประจำ หรือเมื่อเขียนดูแล้วมีหมึกซึมทะลุอีกด้านของแผ่นกระดาษหรือไม่

ดูขนาดของปากกาที่ใช้กับเนื้อกระดาษ หากเป็นปากกาที่มีหัวขนาดเล็กมาก เช่น น้อยกว่า 0.3 ม.ม. เขียนลงในกระดาษที่มีเนื้อหยาบ อาจทำให้เขียนยาก

เราจึงต้องเลือกหาสมุดและปากกาที่เหมาะกันมาใช้

3.  เส้นบรรทัด

สมุดบันทึกมีทั้งแบบไม่มีเส้น และมีเส้นบรรทัดหลายแบบ

สมุดบันทึกที่ได้รับความนิยมมากคือ แบบมีเส้นบรรทัดในแนวนอน

แต่สำหรับคนที่ใช้เขียนแผนภาพหรือวาดรูปภาพประกอบ แบบมีเส้นตารางจะใช้ได้ง่ายกว่าและใช้สะดวก เมื่อต้องการลากเส้นแนวตั้งและแนวนอน  ซึ่งเส้นแนวตั้งและแนวนอนจะใช้เป็นจุดอ้างอิง เมื่อจะแปะสิ่งต่าง ๆ ในสมุดบันทึกได้

ส่วนเราจะเลือกแบบใดก็ต้องพิจารณาจากการใช้งานของเราเป็นหลัก

4.  ขนาดของสมุดบันทึก

ปัจจุบันมีสมุดอยู่หลายขนาดให้เลือกใช้งาน

ขนาด A4 หรือ B5 เหมาะกับการใช้งานที่มีการแปะติดรูปภาพ

ขนาด A5 จะเล็กกะทัดรัดกว่า เวลากางออก 2 หน้าก็เห็นได้ชัดเจน

ขนาด B6 เล็กกะทัดรัดกว่า ขนาด A5 จึงเหมาะจะพกพาและใช้งานได้สะดวกเวลาต้องยืนจด

ขนาด A6 เล็กเท่าฝ่ามือ เก็บใส่ช่องด้านนอกของกระเป๋าได้

ลักษณะที่เรานำมาใช้พิจารณาเลือกซื้อสมุดบันทึกข้างต้น จะช่วยเป็นแนวทางให้เราเลือกซื้อสมุดบันทึกได้ง่ายขึ้น

เพราะในปัจจุบันมีการออกแบบสมุดบันทึกในรูปแบบหลากหลาย รองรับประโยชน์การใช้งานที่แตกต่างกัน

เพื่อให้เราได้ใช้ประโยชน์จากสมุดบันทึกให้คุ้มค่าที่สุด ตรงตามความต้องการ ความเหมาะสมในการใช้งานสมุดบันทึกของตัวเองมากที่สุด

สมุดโน้ตแบบต่างๆ

บทส่งท้าย

ในชีวิตประจำวัน มีหลายการนัดหมาย มีหลายเรื่องที่เราต้องจำ ถ้าเราไม่จด โน้ต หรือบันทึก ก็มักจะหลงลืมได้ง่ายเสมอ แล้วจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ที่สำคัญการจดบันทึกจะทำให้เราจดจำได้ดีมากขึ้น

คนเราจะมีเทคนิคการจดบันทึกที่ไม่เหมือนกัน ตามความชอบและความถนัด แต่การจดบันทึกเป็นสิ่งจำเป็นในการเรียนและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต้องการสมุดโน้ต ปากกา หรืออุปกรณ์เสริมต่าง ๆ เลือกจากร้านค้าออนไลน์ได้เลยค่ะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *