ริบบิ้นสี สัญลักษณ์ที่สื่อความหมายเดียวกันทั่วโลก

ribon ริบบิ้น

ริบบิ้น เป็นของใกล้ตัวที่รู้จักดี มีหลายแบบ หลายสี และสามารถนำมาใช้ประโยชน์หลากหลาย ไม่ว่าจะเอามาทำโบผูกผม ตกแต่งห่อของขวัญ ตกแต่งงานประดิษฐ์ต่าง ๆ หรือ สร้างสรรค์ผลงานได้หลายรูปแบบ

ริบบิ้น ลายจุด

การใช้ริบบิ้นสีต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์เพื่อการสื่อสารความหมาย อาจเพราะริบบิ้นเป็นสิ่งที่รู้จัก มีใช้กันทั่วโลก หาได้ง่าย ราคาประหยัด ทำให้เข้าถึงได้ง่ายในทุกกลุ่มคน

ความรู้เรื่องริบบิ้น

ริบบิ้น (Ribbon) หรือ ริบบิ้นสี นั้นเป็นอุปกรณ์ที่ใช้รัดเพื่อเสริมความงาม รวมไปถึงจัดระเบียบสิ่งของต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า ทรงผม หรือแม้กระทั่งข้าวของเครื่องใช้ เมื่อนำแถบผ้าริบบิ้นมาขดเป็นริ้วรูปทรงต่าง ๆจะก่อให้เกิดขดริบบิ้นที่เรียกว่า โบว์ ซึ่งสามารถใช้ติดเสื้อผ้า ทรงผม ข้างของต่าง ๆ รวมไปถึงกล่องของขวัญได้เช่นกัน

ดอกไม้ริบบิ้น

ประเพณีการติดริบบิ้นสี เพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์นั้นมีมาตั้งแต่ตอนไหนยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด เพราะเมื่อพบอีกทีก็ปรากฏเป็นที่แพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลกแล้ว และรู้หรือไม่ว่า การติดริบบิ้นแต่ละสีนั้น ก็จะแสดงออกถึงความหมายที่แตกต่างกันไป หรือแม้กระทั่งริบบิ้นสีเดียวกันแต่เมื่ออยู่คนละประเทศก็จะมีความหมายที่เปลี่ยนแปลงไป แต่รู้หรือไม่ว่ามีการติดริบบิ้นสี เพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นสากลด้วย วันนี้ OfficeAce ได้รวบรวมมาให้ทุกคนได้อ่านค่ะ

 

 

ริบบิ้นสีขาว (White Ribbon)

สัญลักษณ์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

ริบบิ้นสีขาว

การติดริบบิ้นสีขาว จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นที่ประเทศแคนาดาในปี 1991 ภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ นักศึกษาหญิงจำนวน 14 คน อย่างโหดร้าย ในเมือง Montreal เป็นเหตุให้นักศึกษาชายกว่าแสนคน ออกมาเรียกร้องให้ผู้ชายทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาในการใช้ความรุนแรงกับสตรี โดยการติดริบบิ้นสีขาวไว้ที่ปกเสื้อ เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ เพื่อแสดงถึงการร่วมต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรีโดยการ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อสตรี” ทุกรูปแบบ

ต่อมาในปี 1999 องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้รับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวัน “วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กสากล” ซึ่งสอดคล้องกับการใช้ริบบิ้นสีขาวในเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการยุติความรุนแรง โดยในปัจจุบันสามารถใช้ได้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย เพื่อเป็นการรณรงค์ “การยุติความรุนแรงในครอบครัว” อีกด้วย

ริบบิ้น สีขาว

 

 

ริบบิ้นสีเหลือง (Yellow Ribbon)

สัญลักษณ์แห่งความหวัง การรอคอย และการกลับมาพบกัน

ภายหลังจากโศกนาฏกรรมทางเรือเซวอล ที่ได้คร่าชีวิตเด็กนักเรียนไปร่วมหลักร้อยในประเทศเกาหลีใต้ ทำให้สัญลักษณ์ริบบิ้นสีเหลืองที่มีความหมายถึง “การรอคอย ความหวัง” นั้นกลับมาคุ้นตาผู้คนทั่วโลกอีกครั้ง

ริบบิ้นสีเหลือง

การเริ่มใช้ริบบิ้นสีเหลืองอย่างเป็นสากลน่าจะมาจากอิทธิพลของบทเพลงในยุค 70s ที่มีชื่อว่า Tie a Yellow Ribbon ′Round the Ole Oak Tree ซึ่งนักแต่งเพลงชาวอเมริกันเจ้าของเพลงนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ของนักโทษชายผู้หนึ่งที่กำลังจะพ้นออกโทษออกจากเรือนจำ แต่ครั้นใกล้กำหนดการจะมาถึงเขาก็ได้กังวลว่าภรรยาที่รักของเขาจะยังคงรออยู่หรือไม่

เขาจึงได้เขียนจดหมายไปหาภรรยา เพื่อบอกว่าถ้าหากภรรยายังคงรักและรอเขาอยู่ ให้เธอนำริบบิ้นสีเหลืองมาผูกไว้ที่ต้นโอ๊คเพื่อให้เขาเห็นได้ชัดเจน หรือถ้าไม่มีใจให้กันแล้ว เขาจะได้นั่งรถผ่านเลยไปยามที่ไม่เห็นริบบิ้นบนต้นโอ๊ค ซึ่งสุดท้ายแล้วเขาก็เห็นริบบิ้นสีเหลืองบนต้นโอ๊คจริง ๆ

ด้วยเนื้อหาของเพลงบวกกับความหมายที่ซึ้งกินใจ ทำให้คนอเมริกายามนั้นที่อยู่ในยุคสงคราม ต่างใช้ริบบิ้นสีเหลือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการต้อนรับการกลับมาของเชลยสงคราม หรือทหารที่ต้องพลัดถิ่นจากบ้านไปนาน ๆ จวบจนถึงปัจจุบัน ที่ริบบิ้นสีเหลืองได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง การรอคอย และการกลับมาพบกัน

ริบบิ้น สีเหลือง

 

 

ริบบิ้นสีดำ (Mourning Ribbon)

สัญลักษณ์แห่งความอาลัย การไว้ทุกข์ และระลึกถึง

ริบบิ้นสีดำ  มักใช้ในกรณีการไว้อาลัย หรือไว้ทุกข์ให้กับการสูญเสียมานานแล้ว โดยนิยมติดไว้บริเวณแขนข้างซ้ายเหนือศอกขึ้นไป ปลอกแขนและริบบิ้นสีดำได้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์สากล ที่แสดงความโศกเศร้าอาลัยถึงผู้ที่จากไป

ริบบิ้นสีดำ

การใช้ริบบิ้นสีดำ เริ่มต้นจากประเทศอังกฤษ คือมีการนำปลอกแขนสีดำ มาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความโศกเศร้าอาลัย เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับผู้ชาย ตั้งแต่สมัยยุคอาณานิคม (พ.ศ. 2338-2363) โดยให้แต่งกายช่วงไว้ทุกข์ด้วยชุดสูทสีดำ พร้อมติดปลอกแขนที่ทำขึ้นจากผ้าเครปสีดำ ที่มีผิวสัมผัสเป็นเนื้อทรายไม่มันแวววาว เหมาะสมในการใช้แสดงความอาลัย

ต่อมาในยุควิกตอเรีย (พ.ศ. 2380 – 2444) ปลอกแขนสีดำ ถูกนำไปใช้ในราชวงศ์ชั้นสูงของอังกฤษ เมื่อเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2404 เหล่าข้าราชบริพารได้รับอนุญาตให้สวมปลอกแขนสีดำเพื่อแสดงความอาลัย เนื่องจากการตัดเย็บชุดใหม่นั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองเกินความจำเป็น

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2540 ประชาชนทั่วประเทศอังกฤษได้พร้อมใจกันติดริบบิ้นสีดำที่ปกเสื้อด้านซ้าย เพื่อแสดงความไว้อาลัยกับการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอาน่าแห่งเวลส์

สำหรับประเทศไทย สีดำคือสีของการไว้ทุกข์อยู่แล้ว การติดริบบิ้นสีดำครั้งสำคัญก็เพื่อถวายความอาลัยพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 สำหรับคนที่ไม่สะดวกหรือไม่มีเสื้อผ้าสีดำ อีกทั้งทางการไม่ต้องการให้สิ้นเปลืองเกินความจำเป็น เพราะการแสดงความอาลัยใช้ระยะเวลานาน

ริบบิ้น สีดำ

 

 

ริบบิ้นสีแดง (Red Ribbon)

สัญลักษณ์ของวันเอดส์โลก

ริบบิ้นสีแดง

ริบบิ้นสีแดง ถูกกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์ เนื่องในวันเอดส์โลก (World AIDS Day) ตรงกันวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี เพื่อสื่อถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของผู้ป่วยเอชไอวีที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันผู้คนทั้งหลาย

โดยสาเหตุที่เลือกใช้สีแดงนั้น มาจากการที่สีแดงสามารถเป็นสัญลักษณ์แทนได้ทั้ง เลือด และ ความรัก ซึ่งเปรียบเสมือนกับความรักความห่วงใยของผู้คนในสังคมต่อโรคเอดส์ได้เป็นอย่างดี

ริบบิ้น สีแดง

 

 

ริบบิ้นสีชมพู (Pink Ribbon) 

สัญลักษณ์ของการรณรงค์มะเร็งเต้านม

ริบบิ้นสีชมพู

ริบบิ้นสีชมพู เริ่มต้นจาก เอเวอร์ลิน ลอเดอร์ แห่งแบรนด์เครื่องสำอางค์ชื่อดังระดับโลก เอสเต ลอเดอร์ ที่ได้ต่อสู้กับโรคร้ายนี้ จนเมื่อปี 2535 เธอได้ร่วมสร้างสรรค์ริบบิ้นสีชมพูขึ้นมา มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ตระหนักถึงภัยของโรคมะเร็งเต้านม จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการรณรงค์มะเร็งเต้านมไปทั่วโลกนั่นเอง

สัญลักษณ์ริบบิ้นสีชมพู หรือโบสีชมพู เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น โดยเฉพาะเดือนตุลาคม ที่ทั่วโลกมีการรณรงค์เรื่องมะเร็งเต้านมประจำปีอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 เป็นต้นมา หลายองค์กรในต่างประเทศช่วยกันรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านมกันมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา เพราะปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในเพศหญิงทั่วโลก และเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอดเมื่อรวมทั้ง 2 เพศ

ริบบิ้น สีชมพู

 

 

ริบบิ้นสีน้ำเงิน (Blue Ribbon)

สัญลักษณ์ของความเป็นเลิศ ดีเยี่ยม

ริบบิ้นสีน้ำเงิน

ประเทศในแถบยุโรปนิยมใช้ริบบิ้นสีน้ำเงิน เพื่อสื่อถึงของที่มีคุณภาพเยี่ยม หรือของที่ชนะเลิศจากการประกวด จะเรียกว่าผลงานชิ้นโบน้ำเงิน ดังเช่นเพลง Rednecks White Socks and Blue Ribbon Beer

ส่วนในประเทศไทยนั้น นิยมใช้ริบบิ้นสีแดงมาตั้งแต่รัชกาล 4 โดยใช้ครั้งแรกในการประกวดเครื่องโต๊ะจีนของบรรดาบุคคลร่ำรวย ซึ่งสมัยนั้นจะเรียกว่า “แพรแดง” เพราะทำจากผ้าแพรสีแดง และเมื่อรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติมามาก ๆจึงกลายเป็นโบแดง ที่แสดงถึงความสุดยอด ชั้นหนึ่ง เป็นผลงานชิ้นโบแดงนั่นเอง

ริบบิ้น

 

 

บทส่งท้าย

เห็นหรือยังคะ ว่าริบบิ้นเป็นมากกว่าริบบิ้น เพราะคนเรามีความซับซ้อน และต้องการการแสดงออกเพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อสื่อสารให้คนทั่วไปรู้ เข้าใจ และเพื่อหาแนวร่วมในกิจกรรมหรือสัญลักษณ์ต่าง

สำหรับใครที่มองหาริบบิ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ หรือใช้ริบบิ้นเพื่องานต่าง ๆ  ลองเลือกได้จากร้านค้าของเราค่ะ มีหลายสี หลายแบบ หลายขนาด ให้เลือกใช้งานได้ตามใจ ริบบิ้นแต่ละสีให้ความรู้สึกต่างกัน ลองอ่านบทความเพิ่มเติมของเราได้เลยค่ะ

ริบบิ้นผ้า

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *