วัยเด็ก เป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาการ
การให้เด็กเล่นโทรศัพท์หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์มากเกินไป จะทำให้สายตาเด็กมีปัญหาได้
กล้ามเนื้อต่างๆ ของเด็กเล็กก็ไม่ได้พัฒนาการเท่าที่ควร และยังส่งผลต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ ด้วย
การปั้นช่วยได้… การปั้นเป็นกิจกรรมเบสิก แต่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และฝึกสมาธิ ของเด็กทุกช่วงวัยได้อย่างดีมายาวนาน
สมัยก่อน เราใช้ดินเหนียวในการปั้น ตอนนี้เรามีดินน้ำมันหลายแบบหลายสีให้เลือก เล่นง่าย สนุกได้มากขึ้น ไม่ต้องกลัวเลอะ
ความรู้เรื่องการปั้น
การปั้น คือ การนำเอาวัสดุอ่อนที่สามารถรวมกันได้หรือแบ่งแยกออกจากกันได้ เช่น ดินเหนียว ดินน้ำมัน ขี้ผึ้ง
มาตกแต่งทำเป็นรูปทรงต่าง ๆ ตามต้องการ โดยใช้วิธี ขยำ บีบ นวด ตัด ขัด ขูด ปะ เป็นต้น
วัสดุที่นำมาปั้นได้นั้น ต้องมีความเหนียวและนิ่ม สามารถยึดจับกันเป็นก้อน ทรงตัวอยู่ได้ตลอดเวลาที่ปั้น มีความคงทนไม่แตกสลายได้ง่าย ทั้งในขณะกำลังปั้นและเมื่อปั้นเสร็จแล้ว ซึ่งวัสดุเหล่านี้มีอยู่ในธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในปั้นสำหรับเด็ก
ดินธรรมชาติ (clay หรือ mineral clay)
สมัยก่อนใช้จะใช้ดิน จากแหล่งที่อยู่ซึ่งหาได้ง่าย ผสมน้ำ มาใช้สำหรับปั้นดิน เช่น ดินเหนียว (Plastic clay) เนื้อดินละเอียดสีเนื้อ หรือสีเทา มีความเหนียว
จากนั้นมีการผสมกับดินชนิดอื่น เพื่อให้คงรูปได้ง่าย และมีการพัฒนารูปแบบให้เป็นที่น่าสนใจยิ่งขึ้นด้วยการแต่งสี กลิ่น และเติมสารสังเคราะห์อื่น ๆ เพื่อความเหนียวนุ่ม และมีลักษณะน่าใช้ขึ้น
ดินน้ำมัน (Plasticine)
ดินน้ำมันเป็นวัสดุที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้แทนดินเหนียว ดินน้ำมันสามารถเก็บรักษาได้ง่ายกว่า และนำมาใช้ได้อีกหลายครั้ง นิยมใช้ในงานปั้นหรือขึ้นรูปต่าง ๆ
เหมาะสำหรับเด็กฝึกฝีมือ และทำงานศิลปกรรม
ดินที่ใช้ทำดินน้ำมัน มีหลายชนิด เช่น ดินเหนียว และ แร่ดิน (clay minerals) โดยผสมกับน้ำมัน ขี้ผึ้ง
จุดเด่น ของดินน้ำมันคือเนื้อดินเหนียวนุ่ม ปั้นขึ้นรูปง่าย ไม่แห้งเมื่อสัมผัสอากาศเพราะเป็นน้ำมัน ไม่ละลายในน้ำ ใช้งานได้นาน แถมยังเก็บรักษาได้นานและง่าย และนำกลับมาปั้นได้อีกหลายครั้ง
ข้อเสีย คือติดไฟได้ และหลอมเมื่อได้รับความร้อน
ข้อแนะนำในการเล่น ควรล้างมือทุกครั้งหลังเล่นดินน้ำมัน หรือใส่ถุงมือขณะเล่นได้ยิ่งดีเพื่อป้องกันการแพ้
– ปัจจุบันมีดินน้ำมันธรรมดา และดินน้ำมันแบบปลอดสารพิษ การซื้อหาดินน้ำมันสำหรับเด็กๆ ควรเลือกดินน้ำมันที่ปลอดสารพิษจะดีที่สุด แม้ราคาจะกว่าก็ตาม
– ดินน้ำมันที่แข็งกระด้าง ถ้าเอาไปตากแดดสักครู่ จะนิ่มและอ่อนตัวมากขึ้น
– ดินน้ำมันกินไม่ได้ ต้องระวังไม่ให้เด็กใส่เข้าไปในจมูก หรือปาก เพราะหากเกิดหลุดลงไปอุดหลอดลม อาจจะทำให้ เด็กเสียชีวิตได้ ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำและดูแลเด็กเล็กในการเล่นดินน้ำมัน
– อย่าลืมล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด หลังจากการเล่นดินน้ำมันด้วยทุกครั้งหลังจากการเล่น จริง ๆ แล้ววิธีการเล่นที่ปลอดภัย คือสวมถุงมือป้องกันการสัมผัสโดนสารอันตราย แต่ก็จะทำให้น้อง ๆ มีความเพลิดเพลินในการเล่นดินน้ำมันลดลง
แป้งโดว์
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การใส่ใจเรื่องวัตถุดิบและสินค้าที่ดีที่สุดเพื่อลูกน้อยที่มากขึ้น จึงได้มีการคิดค้นวิธีที่ได้มาซึ่งแป้งปั้นปลอดสารพิษ ที่เรียกกันว่า “แป้งโดว์”
แป้งโดว์ หรือ เพลย์โดว์ (play dough) คือ ของที่เด็ก ๆ ใช้ปั้นขึ้นมาเป็นรูปร่างต่าง ๆ สร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นงานศิลปะ
มีส่วนผสมหลัก ได้แก่ แป้ง เช่น แป้งสาลี หรือ แป้งอเนกประสงค์ น้ำ เกลือ ครีมออฟทาร์ทาร์ น้ำมันพืช สารแต่งสีและกลิ่น
ข้อดี ปลอดภัย มีลักษณะและสัมผัสที่ค่อนข้างจะนิ่มกว่าดินน้ำมัน
ข้อเสีย เล่นได้ไม่นาน เพราะแข็ง และมีกลิ่นหืนของแป้ง และอาจเกิดเชื้อราขึ้น ผู้ใหญ่ต้องคอยสังเกตลักษณะที่เปลี่ยนไป
ข้อแนะนำคือต้องเก็บในภาชนะที่ปิดสนิทและเก็บในตู้เย็น
– แป้งโดว์จะมีอายุการใช้งานหลังจากเปิดใช้ราว 1-2 เดือน (มากกว่านี้ขึ้นกับการเก็บรักษา) แต่ถ้าอาศัยเรานำออกมาเล่นบ่อย ๆนวดคลึงบ่อย ๆก็จะยืดอายุได้อีก
– เพื่อสุขอนามัยที่ดี ควรเปลี่ยนแป้งเล่น เมื่อแป้งเริ่มสกปรก
– เมื่อแป้งโดว์เริ่มแข็งหรือร่วน ให้หยดน้ำอุ่นๆลงไปเล็กน้อย แป้งโดว์ก็จะกลับมานิ่ม
– แป้งโดว์มีรสเค็มจากเกลือ เพื่อป้องกันเด็กนำเข้าปาก (จะคายทันที)
– แบ่งแป้งให้เด็กเล่นพอประมาณ และเมื่อเลิกเล่น ควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท ไม่ให้ลมเข้า
– ล้างมือก่อน-หลังเล่นแป้ง
– ควรแบ่งเนื้อที่ให้เด็กเล่น อาจ หาแผ่นรองมาให้เด็กเล่นพร้อมกับอุปกรณ์เลือกได้ตามใจชอบ
แม่พิมพ์และอุปกรณ์เสริมต่างๆ
เพื่อเพิ่มความสนุกและเสริมทักษะให้เด็ก ๆ เราสามารถเตรียมอุปกรณ์เสริม มาใช้ในการปั้นดินน้ำมันด้วยได้
เช่น ชุดอุปกรณ์ปั้นดินน้ำมันพลาสติก (ลูกกลิ้ง ไม้บด ไม้ตกแต่ง ไม้ปาดเรียบ มีดตัด), ชุดปั้นดินน้ำมัน, แม่พิมพ์รูปทรงต่าง ๆ
รวมถึงของใช้รอบตัวเราก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการปั้นดินน้ำมันได้ ไม่ว่าจะเป็น ดินสอ ยางลบ พวงกุญแจ ฯลฯ จะช่วยฝึกจินตนาการเสริมให้เด็กได้เป็นอย่างดี
ขั้นตอนการปั้นเบื้องต้น
1 ก่อนปั้น ควรเอาดินน้ำมันหรือแป้งโดว์มานวดก่อน เป็นการฝึกมือไปในตัว และที่สำคัญจะทำให้ดินนุ่ม ปั้นง่าย
2 ออกแบบภาพที่ต้องการปั้น แล้ววาด หรือวางแผนการปั้นเอาไว้
3 ลงมือปั้นส่วนต่าง ๆให้เรียบร้อย ตกแต่งชิ้นงานให้ได้รูปทรงตามแบบที่ต้องการ
4 ตรวจสอบความสมบูรณ์ของชิ้นงาน
การฝึกทักษะการปั้นดินน้ำมันตามช่วงวัย
1-2 ปี : หยิบ ขยำ กด ทุบให้แผ่ออก มีลักษณะการใช้มือแบบกำทั้ง 5 นิ้ว
2-3 ปี : ดึงดินน้ำมัน ฯลฯ ออกจากกันเป็นก้อนๆ มีลักษณะการกำหรือใช้นิ้ว และตัดด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้
3-4 ปี : ปั้นดินน้ำมัน ฯลฯ และคลึงเป็นเส้นยาว คลึงเป็นลูกบอล และกดเป็นแผ่นแบนกลมด้วยฝ่ามือ
4-5 ปี : ปั้นดินน้ำมัน ฯลฯ เป็นรูปร่าง ที่เด็กอาจจะเข้าใจความหมายได้คนเดียว
5 ปีขึ้นไป : ปั้นดินน้ำมัน ฯลฯ เป็นรูปร่างที่มีรายละเอียด ผู้อื่นเข้าใจความได้ มีการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ช่วยในการปั้น
ประโยชน์ที่ได้จากการปั้น ดินน้ำมัน/แป้งโดว์
• พัฒนากล้ามเนื้อมือกล้ามเนื้อมัดเล็ก มือและนิ้วมือ ในการนวด นวด คลึง และปั้น
• พัฒนากล้ามเนื้อมือกล้ามเนื้อมัดใหญ่ แขนหยิบจับเล่น
• พัฒนาประสาทสัมพันธ์ สอดคล้องระหว่างตากับมือ ระหว่างที่ปั้น
• พัฒนาทักษะทางด้านภาษาในการอธิบายผลงานของตนเอง
• พัฒนาความคิดสร้างสรรค์และเสริมสร้างจินตนาการ
• ฝึกสมาธิทำให้เด็กจดจ่อกับงานที่ทำได้นานมากขึ้น
• ผ่อนคลายอารมณ์เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินขณะทำกิจกรรม
• เสริมสร้างความภูมิใจในตัวเอง พึงพอใจในผลงานของตน
• พัฒนาการทางด้านสังคม โดยเด็กสามารถเล่นร่วมกับเพื่อน พี่น้อง คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง และญาติผู้ใหญ่ได้
• ฝึกนิสัยการเก็บของเล่นให้เป็นที่ การรักษาของ เพราะหลังจากเล่นเสร็จแล้ว ต้องเก็บดินน้ำมันหรือแป้งโดว์ให้มิดชิด และดูแลแป้งโดว์ให้มีอายุนานขึ้น เพื่อที่จะนำมาเล่นได้อีกในครั้งต่อไป
บทส่งท้าย
การปั้นในเด็กเล็ก มีประโยชน์มากกว่าที่คิด และราคาวัสดุก็ไม่แพงจนเกินไป เรามาเล่นปั้นดินกับลูก ๆ หลาน ๆ ให้มากขึ้นดีกว่าค่ะ ในขณะที่เล่นกับเด็ก ถือเป็นโอกาสทองเลยทีเดียว เราสามารถสอดแทรกการสอนเรื่องอื่น ๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอุปนิสัย หรือความรู้ต่าง ๆ เช่น รูปทรงเรขาคณิต สัตว์ สีต่าง ๆ ภาษา ฯลฯ และยังเป็นการสร้างความสุข กระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวได้เป็นอย่างดี
ควรเลือกดินน้ำมันปลอดสารพิษ (Non-Toxic) เลือกยี่ห้อที่มีสัญลักษณ์ มอก. (มาตรฐานอุตสาหกรรม)
และที่สำคัญ เวลาเล่นก็ให้อยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่เพื่อความปลอดภัยที่สุด